Home » ข่าวสาร » Nac คืออะไร ?? เสริมภูมิคุ้มกัน ได้จริงหรอ ??

Nac คืออะไร ?? เสริมภูมิคุ้มกัน ได้จริงหรอ ??

  • by

จากกระแสการระบาดของโควิด-19 มีการกระจายข้อมูลต่างๆ ในโลกโซเชียล ถึงวิธีการป้องกันไวรัสชนิดต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย และหนึ่งในนั้นก็มีชื่อของ Nac อยู่ด้วย ซึ่งหลายๆ คนก็คงสงสัยว่า Nac นั้นคืออะไร เป็นชื่อสามัญของยา หรือ ชื่อยี่ห้อยา เราหาข้อมูลมาเฉลยให้ทราบกัน

NAC คือย่อมาจาก N-acetylcysteine (เอ็น-อะเซทิลซิสเทอิน) เป็นชื่อสามัญทางยา
คุณสมบัติทางเภสัชวิทยาของ NAC ประกอบด้วย
          1. ฤทธิ์ละลายเสมหะ 
การอักเสบของทางเดินหายใจ เกิดจากการติดเชื้อ (เช่น แบคทีเรีย, ไวรัส หรือจุลชีพอื่นๆ) หรือไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ (เช่น การอักเสบจากภูมิแพ้ หรือการระคายเคืองเรื้อรัง) NAC ออกฤทธิ์ละลายเสมหะ โดยทำให้มูกเหลวตัว ร่างกายสามารถขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น    

 2. ฤทธิ์ขับเสมหะ NAC เพิ่มการทำงานของขนกวัดของเยื่อบุทางเดินหายใจในการกำจัดเสมหะ และกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหาร และปอด (gastro-pulmonary vagal reflex) ช่วยให้ขับเสมหะออกจากหลอดลม และปอดได้มากขึ้น

3. ฤทธิ์กำจัดสารพิษ และสารอนุมูลอิสระ สารพิษและอนุมูลอิสระ ที่เกิดภายในร่างกาย (เช่น เกิดจากของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญ หรือเมตาบอลิซึมของเซลล์) และจากภายนอกร่างกาย (เช่น เกิดจากมลพิษในอากาศ, ฝุ่น, ควันบุหรี่, ยาบางชนิด, ความเครียด, จากการติดเชื้อ, การบาดเจ็บ, การอักเสบ)   โดยปกติร่างกายจะมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ตามธรรมชาติอยู่แล้ว คือ กลูธาไธโอน แต่เมื่อมีปริมาณของอนุมูลอิสระที่มากเกินไป (oxidative stress) ก็จะทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมาได้ 

ดังนั้นแล้ว NAC หรือ N-Acetylcysteine  จึงมีหลากหลายยี่ห้อให้เลือกใช้ ตามความพอใจของผู้ป่วย หรือ ตามคำแนะนำของแพทย์

ประเภทของยา NAC  หรือ N-Acetylcysteine  ที่มีจำหน่าย
1. ยาต้นแบบ หรือ ยา Original ที่ใช้ได้อย่างมั่นใจในประสิทธิภาพและผลข้างเคียงเพราะมีผลการวิจัยรองรับ
ยาต้นแบบหรือยา Original คือยาที่บริษัทยาคิดค้นและทำการวิจัยว่ามีผลต่อการรักษาโรคอย่างไรบ้าง จนกระทั่งมีผลที่ดีออกมา จึงนำออกมาจำหน่าย โดยมีกำหนดระยะเวลาที่มีสิทธิบัตรคุ้มครอง เมื่อพ้นระยะแล้ว บริษัทอื่นสามารถนำสูตรเคมีไปทำก๊อปปี้ออกมาขายได้ โดยไม่ได้ทำวิจัยเปรียบเทียบ 
2. ยาก็อปปี้หรือยา Local Made 
ตัวยาที่บริษัทอื่นๆ ที่ไม่ได้คิดค้นเป็นยาต้นแบบ  เมื่อครบกำหนดเวลาสิทธิบัตรการคุ้มครอง  ก็นำสูตรทางเคมีมาผลิต  ซึ่งอาจจะมีส่วนผสมบางอย่างแตกต่างกันออกไป  จากยาต้นแบบ  โดยอาจไม่มีการทำวิจัยเปรียบเทียบ

ข้อพึงระวัง : NAC หรือ N-Acetylcysteine เป็นยาที่มีความไวต่อการสัมผัสอากาศ หากเป็นแบบขวดหรือหลอด เมื่อเปิดใช้แล้วควรรีบปิดฝาให้สนิท ลดการโดนอากาศ เพราะถ้ามีการสัมผัสอากาศนาน จะเกิดการ ออกซิเดชั่น ( Oxidation ) ความชื้นในอากาศเข้าสู่ตัวยา ทำให้ลดประสิทธิภาพของการออกฤทธิ์ได้อีกด้วย

ปฏิกิริยาเคมีที่ทำให้สารได้รับธาตุออกซิเจนมารวมตัวด้วย หรือทำให้สารสูญเสียธาตุไฮโดรเจนไป

ก็คงจะทราบถึงรายละเอียดของ Nac ว่าคืออะไร มีผลการออกฤทธิ์ทางตรงและทางอ้อมอย่างไรบ้าง และก็ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับ NAC หรือ N-Acetylcysteine ออกมาเรื่อยๆ เช่น ข้อบ่งใช้และการศึกษาทางคลินิก
1. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease: COPD) Stey และคณะในปี ค.ศ. 2000 ได้ทำการทบทวน 39 การศึกษาที่นำผู้ป่วยโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง มาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งได้รับยาหลอก กลุ่มที่สองได้ NAC 1,200 มก./วัน เป็นระยะเวลา 3-6 เดือน โดยมีตัวชี้วัดคืออัตราการกำเริบของโรค และอาการของผู้ป่วย พบว่า NAC สามารถลดอัตราการกำเริบของโรคและอาการของผู้ป่วยได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก โดยผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการใช้ NAC ไม่ได้แตกต่างจากยาหลอก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

2. ไข้หวัดใหญ่  Flora และคณะในปี ค.ศ. 1997 ได้ศึกษาผลของ NAC ต่ออาการป่วยทีเกิดจากไข้หวัดใหญ่ โดยศึกษาคนสูงอายุทีแข็งแรงดี จํานวน 262 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มทีหนึ่งได้ยาหลอก กลุ่มทีสองได้ NAC 1,200 มก./วัน นาน 6 เดือน โดยมีตัวชี วัด 3 ชนิด คือ ความถีของการเกิด ไข้หวัดใหญ่, ความรุนแรงของการเกิดไข้หวัดใหญ่, ระยะเวลาทีผู้ป่วยต้องนอนในเตียงทีโรงพยาบาล พบว่า NAC สามารถลดตัวชีวัดทัง 3 ชนิด ได้อย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ เมือเปรียบเทียบกับยาหลอก และพบว่า NAC มีผลช่วยให้การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยในห้องทดลอง โดย Hui และคณะ ในปี ค.ศ.2013 พบว่า NAC สามารถยับยั้งการหลั่งสารที่เกี่ยวข้องกันการอักเสบจากเซลล์ปอดที่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H5N1) ได้

3. ภาวะพิษของตับที่เกิดจากการรับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาด  การที่เราให้ NAC ในผู้ป่วยที่รับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาด จะไปช่วยเพิ่มสารตั้งต้นของกลูธาไธโอน (คือ cysteine) ทำให้มีกลูธาไธโอน ปริมาณมากพอที่จะกำจัดสารพิษดังกล่าว จึงช่วยป้องกันภาวะตับวายที่เกิดจากการรับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาดได้ 

4. ภาวะพิษต่อตับ เนื่องจากการใช้ยาบางชนิด Baniasadi และคณะในปี ค.ศ. 2010 ได้ทำการศึกษาผลของ NAC ในการปกป้องพิษต่อตับที่เกิดจากยารักษาวัณโรค 3 ชนิดคือ isoniazid, rifampicin และ pyrazinamide โดยนำผู้ป่วยวัณโรค 60 คน ที่ได้รับยารักษาวัณโรคทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว มาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่ง (32 คน) ไม่ได้ให้ NAC กลุ่มที่สอง (28 คน) ได้ NAC 1,200 มก./วัน นาน 2 สัปดาห์ และเจาะเลือดเพื่อดูเอนไซม์ของตับที่ปลายสัปดาห์ที่ 1 และ 2 หลังการให้ยา พบว่า ผู้ป่วยในกลุ่มที่ 1 (ไม่ได้ NAC) มีเอนไซม์ของตับสูงขึ้นทั้งปลายสัปดาห์ที่ 1 และ 2 แต่ผู้ป่วยในกลุ่มที่ 2 (ได้ NAC) เอนไซม์ของตับอยู่ในเกณฑ์ปกติ แสดงว่า NAC สามารถป้องกันพิษต่อตับ เนื่องจากการใช้ยาต้านวัณโรคได้

5. ภาวะพิษต่อตับ เนื่องมาจากแอลกอฮอล์ เมื่อเราดื่มแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol)  Nguyen-Khae และคณะในปี ค.ศ. 2011 ได้ศึกษาประสิทธิภาพของการรักษาผู้ป่วยตับอักเสบเฉียบพลันจากแอลกอฮอล์ชนิดรุนแรงด้วยการรับประทาน prednisolone เพียงชนิดเดียว และการรับประทาน prednisolone ร่วมกับการให้ NAC ทางเส้นเลือด โดยแบ่งผู้ป่วยตับอักเสบเฉียบพลันจากแอลกอฮอล์ชนิดรุนแรงจำนวน 174 คน ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่ง (ผู้ป่วย 89 คน) ได้รับการรักษาด้วย prednisolone โดยวิธีการรับประทานเพียงชนิดเดียว กลุ่มที่สอง (ผู้ป่วย 85 คน) ได้รับการรักษาด้วย prednisolone โดยวิธีรับประทานร่วมกับ การให้ NAC ทางเส้นเลือด แล้ววัดอัตราส่วนของการรอดชีวิต พบว่า กลุ่มที่ได้ทั้ง prednisolone และ NAC มีอัตราการรอดชีวิตใน 1 เดือนแรกสูงกว่า กลุ่มที่ได้ prednisolone อย่างเดียวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่หลังจาก 1 เดือนไปแล้ว อัตราส่วนของการรอดชีวิตไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แม้ว่า กลุ่มที่ได้ทั้ง prednisolone และ NAC จะมีอัตราส่วนของการรอดชีวิตสูงกว่ากลุ่มที่ได้ prednisolone อย่างเดียวก็ตาม แสดงว่า NAC ช่วยบรรเทาความรุนแรงของการเกิดพิษต่อตับ เนื่องจากแอลกอฮอล์ได้

6.ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ Sadasivam และคณะในปี ค.ศ. 2011 ได้ศึกษาประสิทธิภาพของ NAC ในการบรรเทาความง่วงและตัวแปรต่างๆ ของการตรวจการนอนหลับ (sleep test) ในผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ 20 คน โดยแบ่งผู้ป่วย ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก (10 คน) ได้ NAC 1,800 มก./วัน นาน 30 วัน กลุ่มที่สอง (10 คน) ได้ยาหลอก นาน 30 วัน โดยผู้ป่วยทุกรายได้รับการตรวจการนอนหลับ ก่อนได้ NAC หรือยาหลอก และหลังได้ NAC หรือยาหลอกครบ 30 วัน ตัวแปรที่วัดได้แก่ ร้อยละของการหลับลึก, ประสิทธิภาพของการนอนหลับ, ดัชนีหยุดหายใจ และหายใจแผ่วเบา (apnea-hypopnea index), การตื่นจากการหยุดหายใจ, ระยะเวลาที่หยุดหายใจนานที่สุด, ระดับออกซิเจนในเลือดที่ต่ำลง รวมทั้งความง่วงของผู้ป่วย พบว่า NAC สามารถบรรเทาความง่วงของผู้ป่วย และทำให้ตัวแปรต่างๆของการตรวจการนอนหลับดังกล่าวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกหลายที่ใช้ Nac หรือ N-Acetylcysteine ในการรักษาอีกด้วย

อ้างอิง : 1.บทความสุขภาพ-ประโยชน์ของ N-Acetylcysteine (NAC) ที่คุณยังไม่รู้ (ตอนที่ 1) โดย : รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสนภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา Faculty of Medicine Siriraj Hospitalคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
2.บทความ N-Acetylcysteine (NAC) ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์สัมมน โฉมฉาย ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
3.บทความ – ประโยชน์ของ N-Acetylcysteine (NAC) ที่คุณยังไม่รู้ : ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000